ประวัติความเป็นมาของคณะเทคโนโลยีสังคม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เดิมคือโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรีได้รับการจัดตั้งครั้งแรกปี พ.ศ. 2492 ที่บริเวณเขาตาบกท้องที่อำเภอเมืองจันทบุรีกับบ้านห้วยปลาดุก ท้องที่อำเภอท่าใหม่แต่เนื่องจากการคมนาคม ในท้องที่เหล่านั้นไม่สะดวกจึงได้ระงับการจัดตั้งโรงเรียนไว้ก่อนในปี พ.ศ. 2496 กรมสามัญศึกษาพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ขึ้นที่ ดงกระสือ ตำบลพลวง อำเภอมะขาม และเนื่องจากในที่แห่งนี้มีความเหมาะสมสำหรับตั้งโรงเรียนเกษตรกรรม ทางราชการจึงได้สงวนเนื้อที่สำหรับตั้งโรงเรียนเกษตรไว้ส่วนหนึ่งหลังจากนั้นจึงส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจสถานที่พร้อมกับทำเขตแนวโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2504 กรมอาชีวศึกษาได้ให้งบประมาณเพื่อบุกเบิกที่ดินที่ได้สงวนไว้พร้อมซื้อพันธุ์ทุเรียน พันธุ์เงาะสีชมพูและจ้างคนปลูกพร้อมบำรุงรักษา

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการมีประกาศลงวันที่ 10 เมษายน 2507 จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในท้องที่ จึงได้มีการเปิดสอนวิชาชีพเกษตรกรรมในระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพที่จังหวัดจันทบุรี โดยรับนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 63 คน ในปี พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่าโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมสมควรจะขยายระดับการศึกษา จึงให้ขยายระดับการศึกษาเปิดสอนในระดับวิชาชีพขั้นสูงและยกฐานะเป็นวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2517 จากพระราชบัญญัติจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเพื่อผลิตบุคคลากรที่มีความชำนาญในวิชาชีพแขนงต่างๆ วิทยาลัยเกษตรกรรมจันทบุรีเป็นสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันผลิตบุคลากรดังกล่าว จึงได้โอนกิจการบริหารบางส่วนของกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของกรมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเกษตรจันทบุรี” ในวันที่ 27 กันยายน 2520

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากวิทยาลัยฯ เป็นสถาบัน และพระราชทานชื่อสถาบันว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ต่อมาสถาบันฯได้เสนอร่างพระราชบัญญัติขอแก้ไขเปลี่ยนชื่อตามที่ได้รับพระราชทานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และวิทยาเขตเกษตรจันทบุรีได้เปลี่ยนการเรียกชื่อเป็น”วิทยาเขตจันทบุรี” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรโดยผนวกกับอีก 3 วิทยาเขตเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีอธิการบดีเป็นผู้รับผิดชอบ ในฐานะหัวหน้าส่วนงานราชการเช่นเดียวกับอธิการบดีกรมต่างๆ ประกอบด้วยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร คณะเทคโนโลยีสังคม และสำนักงานวิทยาเขตจันทบุรี

ก่อนก้าวสู่….ความเป็น “ราชมงคล”

ประวัติโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี (เกษตรกระทิง)

โรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี ตั้งขึ้นที่บ้านดงกระสือ ใกล้กับบ้านกระทิง ตำบลพลวง อำเภอมะขาม (ปัจจุบันแยกเป็นอำเภอเขาคิชฌกูฏ) จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากบริเวณนี้เป็นป่า เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงวัวกระทิง ประกอบกับเส้นทางที่ผ่านมา ก่อนถึงโรงเรียนต้องผ่านบ้านกระทิงจึงเรียกกันติดปากว่า ”เกษตรกระทิง”และตรงกับชื่อน้ำตกกระทิงซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ในเทือกเขาคิชฌกูฎ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าทางทิศตะวันออกของโรงเรียน เกษตรกระทิง จากการสำรวจและขึ้นทะเบียนที่ดินของกรมธนารักษ์มีเนื้อที่ทั้งสองฝั่งถนนรวมทั้งสิ้น 1,567 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา ติดกับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์มะขาม (ปัจจุบันคือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48) ค่ายลูกเสือจันทบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ

“แม้มีป่าปิดรอบทุกขอบทิศ แต่น้ำจิตไมตรีเรามีให้”

ในปีพ.ศ.2492 หลวงปราโมทย์จรรยาวิภาษอธิบดีกรมอาชีวศึกษาได้ดำริให้ทางจังหวัดจัดหาที่ดิน เพื่อสร้างโรงเรียนเกษตรกรรม จังหวัดได้พิจารณา พื้นที่บริเวณเขาตาบกเขตอำเภอเมือง และ บ้านห้วยปลาดุก เขตอำเภอท่าใหม่ แต่การคมนาคมไม่สะดวก จึงถูกระงับไป

พ.ศ.2496 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาจัดตั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ขึ้นที่หมู่บ้านดงกระสือ ตำบลพลวงอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่นี้มีความเหมาะสมที่จะตั้งโรงเรียนเกษตรกรรม เพราะเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์และติดกับเขากระทิงมีน้ำตกสูงไหลแรง สวยงามมากทางจังหวัดจึงได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการติดต่อกับกระทรวงมหาดไทย ขอสงวนพื้นที่จำนวนหนึ่งไว้สำหรับจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรม

พ.ศ.2500 ได้มีการสำรวจและจัดแนวเขตโรงเรียนโดยมีพื้นที่ประมาณ 3,149ไร่ ต่อมานายเชิญ มณีรัตน์ หัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรม และคณะได้มาสำรวจที่ดินแห่งนี้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2501 และมีความเห็นว่าพื้นที่เหมาะสมที่จะจัดตั้ง โรงเรียนเกษตรกรรมแต่การคมนาคมยังไม่สะดวกเห็นควรจะรอการจัดตั้งไว้ก่อน

พ.ศ.2503 นายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้ไปราชการที่จังหวัดจันทบุรี และได้เข้ามาดูสถานที่ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 มีความเห็นให้แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.จัดตั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เนื้อที่ 400 ไร่
2.ตั้งค่ายลูกเสือของจังหวัด เนื้อที่ 200 ไร่
3.สำหรับจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี เนื้อที่ 2,549 ไร่

การจัดตั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และค่ายลูกเสือจังหวัดจันทบุรี เป็นผลดีแก่การจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี เพราะได้อาศัย นายละออ วรรณทอง ครูใหญ่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ช่วยดูแล และคุ้มกันบริเวณของโรงเรียนเกษตรกรรม มิให้ผู้ใดมาบุกรุกจับจองที่ดินของโรงเรียน

ปีงบประมาณ 2504 กรมอาชีวศึกษาได้ให้งบประมาณเพื่อบุกเบิกที่ดิน ตามที่จังหวัดได้เสนอไปเมื่อปี พ.ศ.2503จำนวน 100,000 บาท พร้อมจัดซื้อรถจี๊ปสำหรับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเข้าออกดำเนินการ 1 คัน และจ่ายเป็นค่าถางป่า รื้อเก็บ จำนวน 25 ไร่ ซื้อพันธุ์ทุเรียน และเงาะสีชมพูอย่างละ 100 กิ่ง และจ้างคนขุดหลุมปลูกพร้อมบำรุงดูแลรักษา

พ.ศ.2505-2506 ทางโรงเรียนยังไม่ได้รับงบประมาณให้จัดตั้งเช่นเคย แต่ทางกรมอาชีวศึกษา หัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรมและเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย รวมทั้งจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ได้กระตือรือร้น ที่จะได้งบประมาณมาจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรีโดยเฉพาะท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามข่าวคราว และไปเยี่ยมสถานที่ที่จะจัดตั้งโรงเรียนทุกครั้งที่ไปราชการที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และค่ายลูกเสือ

วันที่ 13 เมษายน 2506 นายพงษ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ อธิบดีกรมอาชีวศึกษาได้ไปดูสถานที่

และมีความเห็นว่าเป็นที่ที่มีดินดี น้ำดี เหมาะแก่การตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมอย่างยิ่ง ต่อมาทางกรมอาชีวศึกษาได้แจ้งให้จังหวัดทราบว่า ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี ในปี 2507 และได้มีการพิจารณาสถานที่ตั้งอาคารเรียนและจัดวางแผนผังออกแบบอาคาร นำเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติ แต่ได้รับการทักท้วงจากสำนักงบประมาณว่าการคมนาคมที่จะเข้าไปยังไม่สะดวก ให้ระงับการจัดตั้งไว้ก่อน อย่างไรก็ตามความต้องการที่จะให้มีโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นความต้องการของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนชาวจันทบุรี 80% ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมทำสวนยางพารา สวนเงาะ สวนทุเรียน สวนส้มจึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี

ดังนั้นจังหวัดจึงได้มอบหมายให้นายประจำ ประทีปฉาย ศึกษาธิการจังหวัด ผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะสร้างโรงเรียนเกษตรกรรมมาตั้งแต่ต้น ควบคุมการทำแผนที่แสดงเส้นทางเสนอสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งยังชี้แจงให้เหตุผลด้วยวาจาประกอบ เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณจึงได้มาดูสถานที่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2507 และอนุมัติให้ก่อสร้างโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรีได้ อาคารรุ่นแรกที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างในปี พ.ศ.2507 คือ-อาคารเรียน 1 หลัง

-โรงอาหาร 1 หลัง

-บ้านพักครู 5 หลัง

-บ้านพักคนงาน 2 หลัง

จึงสรุปได้ว่าโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี (เกษตรกระทิง) ได้ริเริ่มดำเนินการจัดตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 จนได้รับงบประมาณจัดตั้งเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2507 รวมเวลาที่รอคอย 15 ปีครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี คือ นายสมชัย เฟื่องคอน ที่ย้ายมาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ ชลบุรี เข้ารับหน้าที่เมื่อ 11 มิถุนายน 2507มีนักเรียนรุ่นแรก 63 คน ครู 5 คน เปิดเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 แต่การก่อสร้างอาคารเรียนยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้อาศัยเรียนที่โรงเรียนการช่างสตรีจันทบุรี และได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี(เกษตรกระทิง) เมื่อปี พ.ศ.2508 และได้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีที่ 4-5 มีนักเรียน 120 คน ครู 11 คน ได้รับงบประมาณปี 2508 สร้างบ้านพักครูเพิ่ม 4 หลัง บ้านพักคนงาน 3 หลัง เรือนเพาะชำ 1 หลัง คอกสุกร 1หลัง และคอกไก่ 1 หลัง

พ.ศ.2509 เปิดสอนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม(ม.ศ.6)มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 170 คน ครู 13 คน ได้รับงบประมาณสร้างหอพัก 1 หลัง ในปีนี้มีนักเรียน(กระทิงรุ่น 1) เรียนจบ 23 คน ได้รับวุฒิประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพแผนกเกษตรกรรม

พ.ศ.2510 นายบัญญัติ บุญปาล (ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์) ครูใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ แทนนายสมชัย เฟื่องคอน ซึ่งย้ายไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนเกษตรกรรมชลบุรี(เกษตรบ้านอำเภอ)

พ.ศ.2511 ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพื่อสร้างอาคารต่างๆ รวมเป็นเงิน 9 ล้านบาท และอุปกรณ์การเรียนการสอนอีก 10 ล้านบาท นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี(เกษตรกระทิง) ทำให้การเรียนการสอนก้าวหน้ามากจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน และมีชื่อเสียงโด่งดัง ขจรไกล การแข่งขันทักษะของนักเรียนก็ติดอันดับที่ดีมาตลอด ในเรื่องขององศ์การเกษตรกรในอนาคต(FFT)ก็เป็นที่กล่าวขานว่า

“นักเรียนโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี(เกษตรกระทิง)ทำได้ดีและดีเยี่ยมที่สุด”

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 องศ์การนักเรียนโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี (เกษตรกระทิง) โดยนายสมโภชน์ วิรัตน์สกุล กระทิงรุ่น 8 ได้ทำเรื่องถึงอาจารย์ใหญ่ เพื่อเสนอกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ขอยกฐานะของโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี (เกษตรกระทิง)เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมจันทบุรี ด้วยความเห็นชอบของคณะครู-อาจารย์ โรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี ทั้งนี้ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนระดับอนุปริญญา (ปวส.เกษตรกรรม) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2515

พ.ศ. 2517 ได้ยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมจันทบุรี(เกษตรกระทิง) โดยมีนายบัญญัติ บุญปาล เป็นผู้อำนวยการ

พ.ศ. 2520 โอนจากกรมอาชีวศึกษาไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาและเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรจันทบุรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2520 และได้เริ่มรับนักศึกษาหญิงรุ่นแรกในปีการศึกษา 2521 (กระทิงรุ่น 15)

วันที่12 เมษายน 2522 นายอุดม จันทรศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ วิทยาเขตเกษตรบางพระ ชลบุรีได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ แทนนายบัญญัติ บุญปาล ซึ่งย้ายไปที่วิทยาเขตเกษตรบางพระ

วันที่ 1 มิถุนายน 2523 นายทวีศักดิ์ วิญญาภาพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิทยาเขตเกษตรจันทบุรี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำวิทยาเขตเกษตรจันทบุรี(เกษตรกระทิง) แทนนายอุดม จันทรศิริ ที่ย้ายไปช่วยราชการที่วิทยาเขตเกษตรปทุมธานี

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ยกฐานะเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี และได้รับอนุมัติให้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นมา

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี จัดการเรียนการสอน 2 คณะวิชาคือ

1.คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร เริ่มรับนักศึกษาปริญญาโท (ภาคเรียนปกติ เสาร์-อาทิตย์) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548
2.คณะเทคโนโลยีสังคม เปิดสอนระดับปริญญาตรี

สำหรับคณะเทคโนโลยีสังคม เดิมใช้ชื่อว่า คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเรียนการสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และปริญญาตรี ในด้านการจัดการธุรกิจเกษตร เศรษฐศาสตร์เกษตร และด้านคอมพิวเตอร์-สารสนเทศ กระทั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2549 ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น คณะเทคโนโลยีสังคม ในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตจันทบุรี ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548

สาขาที่เปิดการเรียนการสอนมีดังนี้…

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สาขาวิชาธุรกิจเกษตรดิจิทัล
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีโลจิสติกส์
  • สาขาวิชาการจัดการเพื่อผู้ประกอบการ
  • สาขาวิชาบริหารทรัพยากรมนุษย์
  • สาขาวิชาการบัญชี
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาศิลปศาสตร์ประยุกต์
  • หลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต M.B.A.